หนองในเทียม

เอกสารข้อเท็จจริง

หนองในเทียมเป็นการติดเชื้อที่ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ หลายคนที่ติดเชื้อไม่มีอาการของการติดเชื้อ แต่ยังสามารถแพร่กระจายโรคได้ หนองในเทียมอาจนําไปสู่ภาวะมีบุตรยาก และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ หากไม่ได้รับการรักษา ​

หนองในเทียมคืออะไร

หนองในเทียมเป็นการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (STI) ที่พบได้ทั่วไป หนองในเทียมเกิดจากแบคทีเรียที่ชื่อ Chlamydia trachomatis การติดเชื้ออาจเกิดขึ้นในลําคอ ท่อปัสสาวะ (ทางเดินปัสสาวะ) ปากมดลูก (ช่องเปิดของมดลูก) ทวารหนัก และดวงตา

อาการของหนองในเทียมคืออะไร

อาการอาจปรากฏหลังการติดเชื้อ 2 ถึง 14 วัน ได้แก่ หนองในเทียมมักจะไม่มีอาการแสดงหรืออาการ หากคุณมีอาการ อาจเกิดขึ้นได้ 2 ถึง 14 วันหลังการติดเชื้อ

อาการอาจรวมถึง

  • ตกขาวผิดปกติทางช่องคลอด
  • มีหนองออกจากอวัยวะเพศชาย
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดหรือเป็นหยดหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกระหว่างรอบเดือนปกติ
  • เจ็บระหว่างหรือหลังมีเพศสัมพันธ์
  • ปวดอุ้งเชิงกราน
  • ปวดทวารหนักหรือมีหนอง

หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา หนองในเทียมอาจทําให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ได้แก่

  • หากคุณมีมดลูก (ครรภ์)
    • โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบหรือ PID (เมื่อมดลูกและท่อนําไข่ติดเชื้อ)
    • การยึดเกาะในอุ้งเชิงกราน (รอยแผลเป็นที่ทําให้เนื้อเยื่อภายในกระดูกเชิงกรานติดกัน) ทําให้เกิดอาการปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง
    • ภาวะมีบุตรยาก (ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้) เนื่องจากความเสียหายต่อมดลูกหรือท่อโดยเนื้อเยื่อที่เป็นแผล
    • การตั้งครรภ์นอกมดลูก (เมื่อการตั้งครรภ์เติบโตในท่อนําไข่แทนที่จะอยู่ในมดลูก)
    • การแพร่เชื้อไปยังทารกของคุณในระหว่างการคลอดบุตร อาจนําไปสู่ภาวะเยื่อบุตาอักเสบ (ตาอักเสบ) หรือปอดบวม (การติดเชื้อในปอด)
  • ท่อเก็บอสุจิอักเสบ (การอักเสบของท่อจากอัณฑะ)
  • ข้อต่อมีอาการบวมและเจ็บ
  • เยื่อบุตาอักเสบหรือตาอักเสบ
  • การอักเสบของไส้ตรง (การอักเสบของทวารหนัก)

ใครมีความเสี่ยงต่อหนองในเทียมมากที่สุด

ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำทุกคนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อหนองในเทียมมากที่สุดคือ

  • คนหนุ่มสาว
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันกับผู้ที่เป็นหนองในเทียม
  • ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
  • ใครก็ตามที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

คุณสามารถป้องกันตัวเองจากภาวะแทรกซ้อนของหนองในเทียมได้โดย

  • การตรวจสุขภาพโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กับแพทย์เป็นประจํา
  • หากคุณกําลังตั้งครรภ์ ให้ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งหมดระหว่างการตรวจฝากครรภ์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังทารกระหว่างการคลอดบุตร

หนองในเทียมวินิจฉัยได้อย่างไร

หนองในเทียมเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่วินิจฉัยได้ง่ายและสามารถรักษาได้ แพทย์หรือพยาบาลของคุณจะใช้

  • ตัวอย่างปัสสาวะ (ปัสสาวะลงในขวดเล็ก ๆ)
  • การทดสอบด้วยการใช้ก้านสวอปในการเก็บตัวอย่าง (swab) จากช่องคลอด อวัยวะเพศชาย ท่อปัสสาวะ ทวารหนัก ไส้ตรงหรือลําคอ โดยปกติแล้วสามารถเก็บตัวอย่างโดยการใช้ก้านสวอปเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง และคุณไม่ต้องได้รับการตรวจจากผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพของคุณ

ปัสสาวะหรือก้านสวอปจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทําการตรวจต่อไป ขณะนี้ยังไม่มีชุดการตรวจด้วยตัวเองที่เชื่อถือได้ ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้ในออสเตรเลีย

แม้ว่าคุณจะไม่มีอาการ แต่การตรวจสุขภาพทางเพศอย่างสม่ำเสมอถือเป็นสิ่งสําคัญ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพทางเพศ สามารถดูได้ที่ การตรวจสุขภาพทางเพศ

โทร healthdirect (1800 022 222) เพื่อค้นหาบริการตรวจใกล้บ้านคุณ

หนองในเทียมรักษาอย่างไร

หนองในเทียมสามารถรักษาให้หายได้อย่างง่ายดายด้วยยาปฏิชีวนะ การรักษาคือใช้ doxycycline 100 มก. วันละสองครั้งเป็นเวลา 7 วัน การรักษาอีกวิธีหนึ่งคือใช้ azithromycin 1 กรัม เพียงครั้งเดียว แพทย์ของคุณจะให้ใบสั่งยาปฏิชีวนะแก่คุณ

สิ่งสําคัญคือคุณต้องพบผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพของคุณเพื่อรับการรักษา หากอาการของคุณกลับมาอีกหรือไม่ดีขึ้น ให้กลับไปหาแพทย์หรือพยาบาลเพื่อขอความช่วยเหลือ

การติดเชื้อหนองในเทียมซ้ำเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าคุณจะได้รับการรักษาเรียบร้อยแล้ว คุณก็ยังสามารถติดเชื้อซ้ำได้หากคุณมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นหนองในเทียมโดยไม่มีการป้องกัน สิ่งสําคัญคือต้องทําการตรวจอีกครั้ง 3 เดือนหลังจากได้รับการรักษา เพื่อให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้ติดเชื้อซ้ำ

ฉันควรทําอย่างไรหากฉันมีผลตรวจหนองในเทียมเป็นบวก

หากคุณมีเชื้อหนองในเทียม คุณควร

  • รับการรักษาทันที
  • พูดคุยกับแพทย์หรือพยาบาลของคุณว่าคู่นอนคนใดที่คุณคิดว่าอาจมีความเสี่ยง แพทย์หรือพยาบาลของคุณสามารถช่วยคุณติดต่อพวกเขาได้ ทั้งเป็นการส่วนตัวหรือแบบไม่เปิดเผยตัวตน
  • แจ้งคู่นอนทั้งหมดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และอย่ามีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนเหล่านี้จนกว่าพวกเขาจะได้รับการตรวจและทำการรักษาหากติดเชื้อ

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • Sexual Health Infolink (SHIL) ให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพทางเพศฟรีและเป็นความลับ รวมถึงสายด่วนช่วยเหลือที่เป็นความลับ เปิดให้บริการตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ 9.00 น. ถึง 17.30 น. ที่หมายเลข 1800 451 624
  • Play Safe ​สําหรับเยาวชนในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตรวจ และการรักษา
  • Let them know เพื่อขอคําแนะนําและความช่วยเหลือในการติดตามผู้ติดต่อที่เป็นความลับและไม่เปิดเผยตัวตนสําหรับคู่นอนทั้งหมด
  • Better to Know สําหรับชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส ในการรับข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และสถานที่รับตรวจ เวปไซต์นี้ยังบอกวิธีแจ้งคู่นอน โดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าคุณเป็นใคร
  • ศูนย์สุขภาพนักศึกษาต่างชาติ (International Student Health Hub) สําหรับนักศึกษาต่างชาติในการรับข้อมูลเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การคุมกําเนิดและการตั้งครรภ์
  • Family Planning NSW Talkline ให้ข้อมูลและคําแนะนําด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ เป็นบริการฟรี เป็นความลับ และเปิดให้บริการในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ 8:00-20:00 น. ที่หมายเลข 1300 658 886 ​
Current as at: Wednesday 16 April 2025
Contact page owner: Specialist Programs